Last updated: 27 เม.ย 2566 | 243 จำนวนผู้เข้าชม |
คำว่า คาถาอาคม เวทย์มนต์ เป็นสิ่งที่ผู้สนใจศึกษา ร่ำเรียนวิชา
นั้นรู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว หากแต่เข้าใจกันเพียงผิวเผิน คิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
อันที่จริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หากแต่ว่าทั้งสองสิ่งนี้ เกี่ยวกพันกันอย่างแนบแน่น ลึกซึ้ง
และใช้คู่กันมาจนแทบแยกไม่ออก จนคนร่ำเรียนทั้งหลาย
คิดกันไปว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า “คาถา” มาจากรากศัพท์เดิม ภาษาบาลี-สันสสกฤต คำว่า “กถา”
หรือ “กาถา” แปลความหมายตรงตัว แปลว่า “ถ้อยคำ” อันจะหมายถึง
วาจาคำสอนแห่งพระพุทธองค์ ที่เรียกว่า "พุทธพจน์"
หรืออีกอย่างก็คือมาจากคำกล่าวของสงฆ์สาวก แห่งพระองค
ที่บันทึกในพระไตรปิฎก และอีกสิ่งหนึ่งก็คือถ้อยคำอรรถาธิบาย
จากคัมภีร์ อรรถกถา
ส่วน “อาคม” ความหมายตามตัวคือ การมาถึง และ การไปถึง
ความหมายครอบคลุมไปถึง หนทางแห่งการเข้าใกล้
ถ้าแปลความหมายตรงตัว คาถาอาคม ก็คือ
หนทางในสิ่งทีทำให้เราเข้าไปใกล้ คำสอนแห่งพระพุทธองค์
อันนั้นคือแปลความหมายอย่างคำต่อคำ
แต่ “คาถาอาคม” ก็มีความหมายมากกว่าจะแปลความหมายออกมาคำต่อคำ
สำหรับในทางไสยเวทย์ และเวทย์มนต์ที่ร่ำเรียนกันนั้น แบ่งคาถาอาคมแบ่งออก
เป็นง่ายๆ เนื้อมนต์ที่เป็นภาษาบาลี ก็คือ “คาถา” ส่วนเนื้อมนต์ที่เป็นภาษาไทย
นั่นคือ “อาคม”
ยกตัวอย่างมนต์บทนึงเพื่อให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ
อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญูมาคะตา อิติโพธิมนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนโม
พิศวาสหลงไหล พิศมัยแนบเนื้อ ใจจิตคิดถึง เคล้าคลึงวิญญา
คาถาบทนี้เป็นคาถาทางเสน่ห์ เมตตา มหานิยมอันเป็นที่นิยมแพร่หลายบทนึง
ท่อนแรก คือคาถา ท่อนสองคือ อาคม ซึ่งรวมทั้งสองท่อนนี้ จึงเป็น คาถา-อาคม
โดยสมบูรณ์
นั่นคือถ้อยคำจากพระคาถา และร้อยกรองที่โบราณจาย์ท่านแต่งขึ้นมา
คืออาคม นี่คือตัวอย่าง ของคาถาอาคม
แต่คาถาอาคม ไม่ใช่สิ่งที่คนทั้งหลายจะเข้าถึงและสามารถใช้ได้เกิดผล
กันหมดทุกๆคน นั่นก็เพราะ แรงครู แรงคาถาทั้งหลาย จะอยู่ในท่อนของ
อาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะเข้าถึง
ก็ต้องแลกกับการปฎิบัติ การถือข้อห้ามบางสิ่ง บางอย่าง หรือการยกครู
บูชาครู ก่อนจะใช้หรือร่ำเรียน จึงจะเกิดผล
สำหรับคาถานั้น เป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ถ้อยคำแห่งพระพุทธองค์
ถ้อยคำที่พระสาวกบันทึกในพระไตรปิฎก เป็นอรรถาธิบายถ้อยคำในพระไตรปิฎก
คือคัมภีร์อรรถกถา มีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์อยู่และภายในตัว
เพราะคาถาถ้อยคำแห่งพระพุทธองค์นั้น กล่าวถึงสัจจะความจริง
ตามที่พระองค์เคยกล่าวว่า "ต่อให้แม้ตถาคตจะไม่นำสิ่งเหล่านี้มาบอกกล่าว จะ
ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้ ความจริงมันก็เป็นความจริง ก็อยู่ของมันแบบนั้น ความจริงแห่งธรรมชาติ"
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามหลักไตรลักษณ์
แต่สิ่งเดียวที่ไม่มีวันเสื่อมและสูญไป นั่นก็คือความจริง
เหตุที่มนต์ของพุทธนั้นไม่มีเสื่อมและทรงอานุภาพกว่าสิ่งใดๆ
นั่นก็เพราะมนต์พุทธนั้น กล่าวอ้างถึงสัจจะและความจริง
คาถาพระพุทธมนต์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ใครๆก็ใช้ได้ ท่องแล้วก็เกิดผล
ก็เพราะถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้นี่เอง
มนต์พาหุง ชัยมงคลคาถา ชินบัญชร ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก
ทั้งหลายเหล่านี้ผู้ที่สวดและท่องอยู่เป็นประจำ จึงเกิดอานิสงค์มากมาย
เห็นผลได้ง่ายและชัดเจนมากกว่า เวทย์มนต์บทต่างๆ
ลักษณะคล้ายกับที่ยก ตัวอย่างให้ดูข้างต้น
การเอามาท่องโดยมิได้ทำการบอกกล่าว ยกครู ยกตำรา
อย่างถูกต้องตามจริยาวัตร จึงไม่อาจใช้ได้อย่างเกิดผล ก็เพราะสาเหตุนี้นั่นเอง
เพราะอาคมนั้น เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ โบราณจารย์ท่านรจนาขึ้น
จึงถือเป็นสมบัติของท่าน
ครูบางท่านอาจจะไม่หวงห้าม แต่บางท่านก็หวงห้ามไว้เฉพาะ
สำหรับคนในสายเลือด หรือลูกศิษย์ที่ร่ำเรียนโดยตรง สืบจารีตต่อๆกัน
ไม่ต่างจากมรดกตกทอด
ถ้าผมเปรียบง่ายๆ แรงครู ก็คือกฎหมายควบคุมลิขสิทธิ์
ที่ไม่อนุญาตให้ใครๆนำไปใช้อย่างสาธารณะ ตามอำเภอใจ โดยไม่ให้เครดิต
ไม่ให้ประโยชน์ใดๆ ต่อผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
การฝ่าฝืนนำไปใช้โดยไม่ขอเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ้าเจ้าทุกข์ใจดี
สิ่งที่เจอก็เจ้าทุกข์ไม่เอาเรื่อง ไม่เอาโทษใดๆ แต่ก็ไม่ให้ประโยชน์จากผลงานนั้นๆ
แต่หากเจอเจ้าทุกข์ที่เอาเรื่อง กล่าวโทษขึ้นมา ผลของโทษก็ตามแต่ว่าจะบัญญัติ
ไว้สูงสุดเท่าใด พวกนำคาถาไปใช้มั่วๆ แอบคัดตำรา ถ่ายตำรา
ออกมาใช้โดยพลการ โดยที่ไม่ได้ยกครู ยกตำราอย่างถูกต้อง
จึงเป็นผลเสีย ประสบเรื่องหายนะ มากกว่าจะเกิดผลสำเร็จก็ด้วยเหตุนี้
การจะใช้คาถาอาคมบทใดๆ โบราณท่านจึงกำหนดให้บอกกล่าว
ครูอาจารย์เจ้าของวิชา เจ้าของมนต์คาถา อาคมบทนั้นๆเสียก่อน
แม้จะไม่ได้กำหนดใดๆ อย่างน้อยๆก็ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน
บอกกล่าว พิสนูครูเสียก่อน
เรื่องนี้คนโบราณท่านถือกันมาก แต่ปัจจุบันละเลยกันไปหมดแล้ว
ตามสมัยของคนปัจจุบันที่มักจะทำอะไรแบบมักง่าย ขอไปที
สุดท้ายถ้าไม่เกิดผลเสีย ก็เข้าไม่ถึงแรงครู แรงวิชาอันใด
สรุปสุดท้ายก็กล่าวโทษไปว่า ไสยศาสตร์ไม่มีจริง
และนับวันก็จะยิ่งเสื่อมลงไปเรื่อยๆ และคนเข้าถึงไสยศาสตร์
ก็จะยิ่งลดน้อยลงไปทุกๆที แม้ผู้คนยุคนี้ จะใฝ่หาไสยศาสตร์มากขึ้น
แต่จารีต ขนบในอดีต กลัีบถูกละเลยไป
ดังนั้นวิชาในปัจจุบัน จึงไม่ทรงอานุภาพ เกิดผลได้ประจักษ์เช่นผู้คนในสมัยก่อน
ก็เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ครับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง
เวลาผ่านมาสองพันกว่าปี ไสยศาสตร์ เป็นเสมือนเปลือกไม้
ที่ห่อหุ้มเนื้อไม้ด้านในที่เรียกว่าพุทธศาสตร์เอาไว้
อย่างน้อยๆ ก็เป็นกุศโลบายอย่างนึง ที่ช่วยพยุงให้จิตใจคนไม่เสื่อมสิ้น
จากพระศาสนาเร็วเกินไปนัก เพราะคนสนใจศึกษา ไสยเวทย์ เวทย์มนต์
ล้วนแต่ต้องศึกษาเรื่องราง เนื้อแห่งพุทธศาสตรืควบคู่ไปด้วย จนค่อยๆซึมซับไป
อบรมบ่มนิสัยในทางอ้อมให้กลายเป็นคนมีศาสนาและคำสอนแห่งพระพุทธองค์
อยู่ในจิตใจไปโดยปริยาย ดังคำกล่าวที่ว่า “พุทธกับไสยนั้นไปด้วยกัน”
ทั้งหลายที่เขียนมานี้ น่าจะคงพอทำให้เข้าความหมายของ คาถาอาคม กันแล้ว
ที่เหลือจากนี้ก็ไปพิจารณา เพื่อจะได้เข้าใจ เข้าถึง และจะได้สามารถใช้คาถาอาคม
ไสยเวทย์ เวทย์มนต์กันได้อย่างเข้าใจ
“อันพุทธมนต์ หากใช้ในเชิงพุทธก็จะเป็นพุทธ หากใช้ในเชิงยุทธก็จะเป็นยุทธ”
จอมยุทธไสยศาสตร์ท่านนึงเคยกล่าวเอาไว้
หากท่านใดต้องการร่วมสนับสนุน ช่วยค่าใช้จ่ายของเว็บไซต์ง่ายๆ
ด้วยการสนับสนุนผลงานจัดสร้างของสำนัก เป็นกำลังใจ
สำหรับการเขียนบทความต่างๆ เพื่อเป็นทุนดำเนินการจัดทำเว็บไซต์นี้
ให้คงมีกำลัง ในการจัดทำเนื้อหาต่างๆได้ต่อไป
ญ.ญาณวุฒิเทวัญ
สำนักฤษเวทย์ ไสยเวทย์วิทยาและมนตราอีสาน
2 เม.ย 2566
29 ก.ย. 2565
2 พ.ย. 2565
5 ต.ค. 2565