Last updated: 26 ม.ค. 2566 | 424 จำนวนผู้เข้าชม |
การถือศีล ๘ สิ่งที่คนเล่นของ เรียนวิชาสมัยนี้ละเลยกัน จนแทบจะไม่มีใครปฎิบัติกันแล้ว
ทั้งๆที่มันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก และโบราณจารย์แต่โบราณท่านกำหนดว่าให้ปฎิบัติอย่างน้อยๆทุก
วันพระใหญ่ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ)ของทุกเดือน ห้ามละเลยเป็นอันขาด
เพราะการถือศีล ๘ นอกจากจะเป็นการฝึกจิต ข่มกิเลส และขัดเกลาจิตใจของเราเองแล้ว ยังเป็นการ ล้างอาถรรพ์
เสนียด จัญไร ผลกระทบจากวิชาทั้งหลาย ให้ออกไปจากกายของเราอีกด้วย ซึ่งการละเลย ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้สะสม
ตัวไปเรื่อยๆ ก็ไม่ต่างจากสะสมขยะ หรือคราบสกปรกต่างๆไว้ นอกจากจะทำให้หมองแล้ว ยังมีผลเสียทั้งทางกาย
และทางใจ โดยที่ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็หนักหนาสาหัส โดนอาถรรพ์ร้ายแรงติดตัว บางคนก็แก้ไม่ออกก็มี
ศีล ๘ การปฎิบัติที่ฆราวาสหลายๆคนนั้นคิดว่ายากลำบาก และไม่เอื้อต่อการดำรงค์ชีวิตประจำวัน ทำให้หลายๆคนไม่
คิด หรือไม่กล้าที่จะปฎิบัติ ด้วยคิดไปว่าทำไปก็ถือไม่ได้ ไม่อยากจะทำให้ศีลหมอง หรือการสมาทานไปแล้วถือไม่ได้
จะเป็นผลเสียหรือเป็นบาป
ที่มันยากก็เพราะว่าไปเอาการถืออุโบสถศีล มาเป็นหลัก ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "อุโบสถ" เป็นศีลที่เอาไว้ปฎิบัติเมื่อ
อยู่ในอุโบสถ ส่วนเรานั้นเป็นฆราวาสครองเรือน ไม่จำเป็นต้องเข้มข้นถึงขนาดอุโบสถศีล แต่ก็ไม่ใช่ว่าถึงขนาดหละ
หลวมจนไม่เป็นการฝึกฝนใจตัวเองแต่อย่างใด
โพสนี้จะขอแนะนำการปฎิบัติ ถือศีล ๘ แบบที่พอจะปฎิบัติกันได้ อย่างไม่ยากเย็นเกินไปนัก
ซึ่งได้ปรึกษาจากครูบาอาจารย์สายปฎิบัติแล้ว ว่าพออนุโลมได้ จะได้ไม่ตึงและเคร่งครัดเกินไป
จนถือปฎิบัติกันไม่ได้ แต่หากกระทำได้แล้ว ก็ควรจะหาทางพัฒนาให้เข้มข้นยิ่งๆขึ้นไป
เพื่อขัดเกลาและฝึกฝนใจตัวเราเอง ให้ดีมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ศีล ๘ ก็คือ ศีล ๕ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
บทการสมาทานศีล ๘ คงไม่ขอเอามาลง
เพราะทราบกันดีอยู่แล้ว มาว่ากันถึงสิ่งที่เพิ่มมาแต่ละข้อ คือ
ข้อ ๓. อพรหมจริยา เวรมณี คือเว้นจากการเสพ บริโภค และยินดีในกามทั้งของตัวเองและผู้อื่น
นั่นคือ ไม่มีเพศสัมพันธุ์ไม่ดูหนังโป๊ ไม่ช่วยตัวเอง
ข้อ ๖. วิกาลโภชนา เวรมณี ไม่กินอาหารยามวิกาล ข้อนี้มีปัญหากันมาก
เพราะมักไปถือเอาตามพระสายธรรมยุติ ซึ่งถือเอาไม่กินหลังพระฉันเพล คือเวลา ๑๑.๐๐ น.
ซึ่งแค่ข้อนี้ก็ทำเอาหลายคนปฎิบัติไม่ได้แล้ว เพราะคนทำงานปรกติ พักกินอาหารเวลา ๑๒.๐๐ น.
จะไปอ้างกับที่ทำงานว่า ถือศีล ๘ ขอกินข้าวก่อน ๑๑ โมง ก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่
ถ้าจะเอาตามมหานิกายบางแห่ง(ทางพม่า) ที่ถือเอาวิกาลโภชนา คือไม่กินข้าวก่อนตะวันตกตกดิน
(๖ โมงเย็น) มันก็แทบจะไม่ได้เป็นการฝึกปฎิบัติอันใดเลย
ข้อนี้ปรึกษาครูบาอาจารย์ ท่านก็ว่าให้ถือเอามื้อกลางวันเป็นมื้อสุดท้าย หรือเต็มที่หลังบ่าย ๓ ไปแล้วไม่ควรกิน
(บ่าย ๒ คือเวลาสุดท้าย ที่ควรจะเริ่มกินอาหารเที่ยง)
ส่วนหลังจากนั้นไปแล้ว ถ้ารู้สึกหิว ให้กินน้ำปานะ ที่ไม่จำเป็นต้องถือตามแบบพระ เพราะเราเป็นฆราวาสซึ่งบางแห่ง
ท่านถือเคร่งว่า นม ก็ไม่ควรกิน เอาว่าใครไม่ถือเคร่งก็ นมกินได้ น้ำเต้าหู้ โอวัลติน กาแฟ
น้ำผลไม้ กินได้แต่ต้องเป็นผล ที่ไม่ใหญ่กว่ากำปั้น และต้องไม่มีเนื้อเจือปน หลีกเลี่ยง
น้ำแอปเปิ้ล มะพร้าว แตงโม
ข้อ ๗.นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนมาลาคันธ
วิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี
งดเว้นจากความบันเทิงทั้งหลาย การดูละคร การ์ตูน คอนเสิร์ต อะไรที่เป็นไปเพื่อความบันเทิงทั้งหลาย
เฟซบุค โซเซี่ยลต่างๆ ควรเล่นแต่พอน้อย ถ้าเจอบันเทิง เพื่อความสนุกก็พยายามเลื่อนๆผ่าน
ไว้สำหรับอ่านข่าวสาร จำเป็น ข่าวดารา เรื่องกอซซิป นินทาต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงไม่ไปอ่าน
หรือสื่อสารกับเพื่อนแต่พอเหมาะ
พวกสารคดี พอตแคสต่างๆทั้งหลาย ที่เป็นประโยชน์ เหล่านี้ดูได้
หนังสือที่เป็นเพื่อความรู้และการศึกษา อ่านได้ เครื่องสำอางค์ น้ำหอมต่างๆ เจลทาผม
น้ำมัน แป้ง ที่เจตนาเพื่อเป็นการแต่งตัว ดึงดูดผู้คน
ให้งดเว้น ส่วนพวกโรลออนระงับกลิ่นกาย ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้
ข้อ ๘.อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี
เว้นที่นั่งอ่อนนุ่มและสูงใหญ่ งดเว้นการนั่งและเอนพิงโซฟา เพื่อความสบาย
ส่วนเก้าอึ้ทำงาน เก้าอี้สำนักงาน พวกนี้ ไม่เป็นปัญหา ที่นอน หากใครนอนพื้น นอนเสื่อไม่ไหว
ก็หาพวกที่นอนยางพารา แบบที่ไม่หนาเกินคืบ แนวๆที่นอนปิคนิค พวกนี้สามารถใช้ได้
ส่วนการเปิดแอร์ ไม่ใช่ปัญหาและไม่ได้มีข้อห้าม แต่ถ้าอากาศมันไม่ได้ร้อนเกินไป
จนถึงขนาดนอนแล้วเหงื่อออก เหนียวตัว ถ้าเปิดพัดลมแล้วอยู่ไหวนอนสบาย ก็ลองดู
เพราะเจตตาของศีล ๘ คือการพัฒนาชีวิตและจิตใจ ไม่ให้ติดอยู่กับเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลาย
ให้ได้รู้จักกับคำว่า "มีก็ดี ไม่มีก็ได้"
คือต่อให้ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายไป ก็สามารถอยู่ได้ไม่ได้เดือดร้อน
ค่อยๆปฎิบัติ ค่อยๆทำ ค่อยๆถือไป แล้วจะรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้มันจะไม่สามารถพันธนาการเราได้อีก
จะเป็นคนที่ยึดติดกับความสบายน้อย
เมื่อต้องการน้อยลง ความต้องการเสพบริโภคน้อยลง ชีวิตก็จะค่อยๆปลดเปลื้องไปทีละอย่าง
ซึ่งหากยังไม่ได้ปฎิบัติ อธิบายไปก็คงจะไม่เข้าใจครับ
เอาเป็นว่าใครอยากรู้ก็ลองปฎิบัติดูเอาเองครับ ของเหล่านี้เป็นปัจจัตตัง
ใครทำคนนั้นก็รู้ เหมือนข้าว ที่ใครกินคนนั้นก็อิ่ม ใครคิดจะฝึกก็ขออนุโมทนาไว้ ณ ตรงนี้ด้วย
3 ก.ค. 2564
3 ก.ค. 2564
29 มิ.ย. 2565
26 ม.ค. 2566