ปอบ ความกลัวที่อยู่คู่คนเรียนอาคม

Last updated: 4 ม.ค. 2565  |  1194 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปอบ ความกลัวที่อยู่คู่คนเรียนอาคม

เอ่ยถึง "ปอบ" แน่นอนว่าย่อมคุ้นเคยกัน ถ้าเป็นคนรุ่นผม
ก็คงคุ้นกับหนังเฟรนไชน์เรื่องดัง ที่ชื่อว่า "บ้านผีปอบ"
ที่สร้างต่อเนื่องถึง ๑๔ ภาค ภาพยนต์เรื่อง "บ้านผีปอบ"
ดัดแปลงจากนิยาย ของปรมาจารย์เรื่องสยองขวัญเมืองไทย
"ครูเหม เวชกร" ตำนานความเชื่อเรื่องผี และเรื่องลี้ลับทั้งหลาย
ที่บางคนเข้าใจกันไปว่าเป็นเรื่องจริง ล้วนแต่มาจากปลายปากกา
ของ "ครูเหม เวชกร" ทั้งสิ้น แต่ภาพยนต์เรื่อง "บ้านผีปอบ"
จะเน้นไปทางตลกโปกฮา คลายเครียดเป็นหลัก เน้นไปที่ตัวละคร
"ปอบหยิบ" เสียเป็นหลัก เรื่องราวเกี่ยวกับปอบจริงๆ จะมีเพียงส่วนน้อย จึงทำให้เราแทบจะรู้จักเรื่องราวของ "ปอบ" กันน้อยตามไปด้วย



เท่าที่พอจะทราบก็คือ เมื่อปอบเข้าสิงใครแล้ว จะฆ่ากินเนื้อ กินเลือดคนสดๆ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ใช่เลย เพราะการกินของปอบ จะไม่ได้มากินแบบโจ่งแจ้งอะไรเช่นนั้น จริงๆแล้วปอบจะไม่ได้ชอบกินของสดๆ และไม่ได้ออกล่าเหยื่อ ที่ชอบกินของสดๆ ออกล่าเหยื่อ
และน่ากลัวกว่าปอบ นั้นจะคือ"ผีเป้า" ซึ่งที่มาก็ไม่ต่างจากปอบเท่าใดนัก จะเรียกว่าเป็นผีตระกูลเดียวกัน ก็คงจะไม่ผิดแต่อย่างใด รายละเอียดเดี๋ยวค่อยไปว่ากัน

"ปอบ" เป็นความเชื่อของทางพื้นที่อีสาน จะเรียกว่าเป็นคำเรียกเฉพาะของท้องถิ่นก็ว่าได้ เท่าที่พอจะทราบ ลักษณะเช่นเดียวกับปอบ แต่หากเป็นพื้นที่ทางอีสานใต้ หรือชาวอีสานที่พูดภาษาเขมร
จะเรียกปอบว่า "ทมบ" ( อ่านว่า ทะ มบ ) และยังมีอีกชื่อว่า
"จะแกคเมา" ( อ่านว่า จะ แก คะ เมา ) หรือบางที่ก็เรียกว่า
"อาบ" หรือ "ผีกระหัง" ซึ่งจะเป็นผีทีเกิดจากคนเล่นอาคม มีอาคมเลี้ยงไว้ เพื่อสำหรับทำร้ายคนอื่นๆ เป็นไสย์ทางขั่วร้าย เป็นข้อแตกต่างแยกเฉพาะออกมาจากพื้นที่อีสานส่วนอื่นๆ ที่ไม่พบว่ามีการเลี้ยง ทมบ หรือเลี้ยงปอบไว้ใช้งานแบบนี้ ส่วนในพื้นที่ภาคอื่นๆ ทราบว่าก็มีลักษณะเดียวกัน แต่ส่วนจะเรียกว่าอะไร ผมเองก็ไม่ทราบ

คนที่มีอาการ"ปอบ"สิง หรือคนที่เป็นปอบ ลักษณะจะตาแข็ง พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง แล้วก็เกิดอาการกระวน กระวาย ทุรน ทุราย บางครั้งก็กินเก่ง หิวอยู่ตลอดเวลา เป็นที่มาของคำด่าที่ว่า " กินเหมือนปอบลง"
อันนี้จะเป็นอาการเริ่มแรก พอนานๆไปจะเริ่มอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
เหมือนกับคนไม่ได้กินข้าว ทั้งๆที่กินไม่หยุด เชื่อกันว่า อาหารที่กินเข้าไป ปอบที่สิงมันไม่หายหิว ก็เลยกินอวัยวะภายในของคนโดนสิง
แล้วสุดท้ายก็ตายไปในที่สุด.....เคยได้ยินเรื่องเล่ามาว่า มีคนเคยผ่าท้องดูอวัยวะภายใน คนที่เป็นปอบแล้วตาย และพบว่า อวัยวะภายใน แห้งและเน่าเหม็น เหมือนคนที่ตายมานานแล้ว อันนี้ก็คือเรื่องเล่าที่ได้ยินมานะครับ ผมไม่ได้เห็นกับตาตัวเองแต่อย่างใด

ถ้าจะแบ่งประเภทของปอบ ก็แบ่งออกได้เป็นสองประเภท

๑.ปอบวิชา
เกิดจากคนเรียนอาคม ที่ผิดครู ผิดคลำ ผิดข้อห้ามร้ายแรง แล้วโดนแรงครูเล่นงาน จนกลายเป็นปอบ

๒.ปอบเชื้อ
คือปอบที่สืบทอดจากปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปยังลูกหลาน
เมื่อบรรพบุรุษกลายเป็นปอบ แม้เจ้าตัวจะโดนปอบกินจนตายไปแล้วก็ตาม แต่ปอบมันไม่ได้ตายตามเจ้าตัวไปด้วย วิญญาณปอบจะเข้าสิง คนที่สืบสายเลือด จะเป็นใครก็ได้ อาจจะลูก หรือหลาน แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าลูก หรือหลานทุกๆคน จะกลายเป็นปอบ แต่จะเป็นคนใดคนนึง  เป็นดั่งคำสาปที่ติดตัวไปอีกหลายชั่วอายุคน  ความน่ากลัวที่สุดของปอบคือตรงนี้.........ที่น่าสยองขวัญคือ หากผู้ที่เป็นปอบแล้วตาย ไม่มีทายาทสืบสายเลือด วิญญาณปอบมันก็จะทำการย้อนขึ้นไป เอาคนเป็นพี่ เป็นน้อง หรือมีความเกี่ยวพันทางสายเลือดเข้าสิงต่อไป



ส่วนที่กินของสดๆ ออกล่าเหยื่อ หาหนู กบ เขียดกิน อันนั้นคือผีเป้า
จะเรียกว่าปอบก็ว่าใช่ แต่ข้อแตกต่างของผีเป้าคือ มันจะไม่กินต่อทางสายเลือด......ฟังดูเหมือนจะดี หากแต่พอเข้าสิง และกินคนผู้นั้นตายแล้ว มันจะออกหาเข้าสิงและกินคนต่อไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันทางสายเลือด ผีเป้าแบบนี้ เรียกอีกอย่างว่า "ผีเป้าผี"
ก็คือเป็นวิญญาณของคนที่เป็นผีเป้า

 



ผีเป้า มี ๓ ประเภท
๑.ผีเป้า
๒.ผีเป้าผี รายละเอียดของทั้ง ๒ ชนิดก็ตามข้างต้น
๓.ผีเป้าว่าน อันเกิดจากการที่คนเล่นอาคม แล้วเอาไม่อยู่ อาคมไม่ถึง
หรือเลี้ยงขาดตกบกพร่อง เพราะว่านพวกนี้จะต้องเลี้ยงด้วยเลือด และของสดๆ ไม่ขาด หากไม่เช่นนั้น มันจะทำการออกหากินเอง หรือหากผู้เลี้ยงไม่ระวังตัว หรืออาคมไม่แกร่งกล้าพอ มันก็จะทำการเข้าสิง และกินคนเลี้ยง หรือบางครั้ง ก็แปลงร่างเป็นลักษณะเหมือนคนเลี้ยง ออกไปหากินของสดๆ เช่น หนู กบ เขียด ฯ ว่านที่มีคุณลักษณะดังกล่าว ก็คือจำพวกตระกูล"ว่านโพง" หรือ"ว่านกระสือ"นั่นเอง
"ผีกระสือ" ก็คือ ผีเป้าประเภทนึง

ยังมีเนื้อหาอีกพอสมควร แต่ยาวมากพอสมคสวรแล้ว
วันนี้จึงขอจบเพียงเท่านี้ก่อน ติดตามอ่านกันตอนหน้าครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้