Last updated: 14 ส.ค. 2563 | 2286 จำนวนผู้เข้าชม |
"ขันครู", "ขันวิชา", "คายครู", ก็ตามแต่จะเรียกกัน แต่รวมๆแล้วความหมายไม่ต่างกัน
คือเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อแรงครู แรงคาถา ของครูเจ้าของวิชากับผู้ร่ำเรียน
หลักๆขันครูของแต่ละสายจะไม่ค่อยต่างกัน คือหลักๆสิ่งที่อยู่ในขันครูก็จะมี ผ้าขาว ผ้าแเดง
กรวยกระทงสำหรับใส่ ธูปเทียน ดอกไม้ หมากพลู ๕ กรวย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปริศนาธรรมและคำเตือนใจแก่ผู้เรียน ไม่ใช่เพียงแค่ให้ใส่ลงไปเฉยๆ
เช่นผ้าขาว แทนครู ผู้อาวุโสผู้ล่วงลับ, ผ้าแดง แทนครูที่ยังมีชีวิต
กรวย ๕ แทน ขันธ์ ๕ หรือบ้างก็หมายถึงให้ยึดปฎิบัติในศีล ๕
ธูป ๓ คือพระรัตนตรัย เทียนแทนดวงตาเห็นธรรมทั้งสองข้าง
ดอกไม้คือคุณงานความดี
คำหมากแทนคำสอนของครู
แต่ละคติก็จะสอนต่างๆกันไปบ้าง แต่โดยรวมๆความหมายคือประมาณนี้
แต่วิชาสายอีสานที่ผมร่ำเรียนจะเพิ่มเติม ๑ สิ่ง ที่แตกต่างจากวิชาอื่นๆ นั่นคือ"สุรา" หรือ"เหล้า"
ทีแรกผมก็ไม่เข้าใจความหมาย คิดว่าครูอีสานนั้น"มักม่วน" หรือชอบความสนุกสนาน ท่านจึงได้ขาดจากน้ำทิพย์ไม่ได้
แต่พอศึกษาไปลึกๆเข้า ก็ได้ค้นพบว่า ความหมายแท้จริงที่ให้ใส่เหล้าลงไปในขันครู ก็เพื่อเป็นการเตือนใจว่า
"คนเรานั้นแรกๆก็เหมือนกับน้ำเปล่า แต่เมื่อผ่านการหมักบ่มผสมกับสิ่งผสมต่างๆ ที่ต้องกดและอัดและผ่านการดองใช้เวลา
จึงจะเปลี่ยนจากน้ำธรรมดา แล้วนำมากลั่นกรองจึงจะกลายเป็นสุราที่มีรสชาติร้อนแรงขึ้นมาได้"
คนเรานั้นก็เช่นกัน ต้องผ่านสิ่งต่างๆ ผ่านการกดดัน ความทุกข์ ประสบการณ์ชีวิต
การจะร่ำเรียนวิชาใดๆก็ต้องผ่านการเคี่ยวกรำ หมักบ่มตัวเองเสียก่อน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะสำเร็จในระยะเวลาไม่กี่คืน
กว่าจะแปรสภาพจากคนธรรมดา เพื่อกลายเป็นคนวิชาที่คนเขายกย่องว่าเป็น"เสยยะ" หรือ"คนเหนือคน"ได้
ยิ่งเฉพาะขันใหญ่แห่งวิชาอีสาน ที่คายครูกำหนดเหล้า ๒ ถึงขวด อันนี้ผมคิดเอาเองว่า
น่าจะหมายถึงว่าเป็นคนอีสาน เลือดอีสาน ดินแดนราบสูงแห้งแล้ง ไกลจากความเจริญ ห่างจากขอบขันพันธสีมา
โดนคนดูถูกยิ่งต้องอดทน และพยายามให้มากกว่าคนปรกติถึง ๒ เท่า
ในบรรดา" ขันวิชา" ทั้งหลายที่เปลี่ยนทุกๆปี บางครั้งผมก็รู้สึกละอายแก่ใจ
เพราะหลายๆวิชาที่ยังไม่เคยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
จะเรียกว่าเรียนมาเสียเปล่าก็ไม่ผิดแต่อย่างใด
"วิชาดี ถ้ามีแล้วไม่นำมาใช้ ก็เปรียบเสมือนไม่มี"
หลังจากนี้ตั้งใจว่า จะนำวิชาต่างๆที่มีและไม่เคยใช้ นำออกมาจากตัวหนังสือในตำรา
มาเป็นผลงานแบบรูปธรรมให้คนได้รู้จักกัน
27 เม.ย 2566
2 พ.ย. 2565
5 ต.ค. 2565
2 เม.ย 2566