พิธีบูชาครู ๒๕๖๒ บ้านผจก.

9 ก.พ. 2562  -  9 ก.พ. 2562

 

ช่วงเช้า วันเสาร์ ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๒ (ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓) 
ปฐมเหตุเกิดจากการที่ผอ.สำนักต้องการจัดพิธีขึ้นเพื่อระลึกถึงพระคุณครูผู้ล่วงลับ จึงมาขอคำปรึกษาเรื่องวันเวลา ผมจึงกำหนดให้เป็นวันตามที่แจ้ง เนื่องจากตรงกับวันมงคลหลายประการ แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือเป็นวันวสันต์ปัญจมีอันเป็นวันสำหรับบูชาพระสุรัสวดี(พระสัสดี) ผู้เป็นมารดาแห่งเวท(ความรู้)ทั้งปวงและศิลปะทุกแขนง หากได้ศึกษาถ่องแท้จะเข้าใจได้ว่าพระสุรัสวดีนั้นมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะคนที่เรียนพระเวท

ความสำคัญของพระสุรัสวดีนั้นมีการนับถือแทรกซึมกันมาอย่างยาวนาน 
แม้กระทั่งชื่อหนังสือจินดามณี ก็มาจากชื่อของท่านในภาษาทมิฬจะเรียกนามท่านว่าจินดา ซึ่งจินดามณีก็คือดวงแก้วของพระสุรัสวดี 
ชื่อ "สุรัสวดี" "สัสดี" เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง ชื่อ "กรมสัสดี" ที่คุ้นกันอยู่ทุกวันนี้ก็มาจาก "กรมพระสุรัสวดี" ในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยา อันมีความพ้องต้องกับชื่อพระองค์เนื่องจากกรมนี้จะควบคุมบัญชีทะเบียนทหารทั้งอาณาจักรแล้วขึ้นตรงต่อพระมหากษัติย์ คอยจัดสรรกำลังไพร่พลทางการรบ คุมการใช้จ่าย เก็บเงิน เรียกได้ว่ากรมนี้มีอำนาจมาก ซึ่งก็มียาวมาจนถึงยุครัชกาลที่๕ จากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนระบบให้กรมนี้ไปขึ้นกับกระหลวงกลาโหม แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นสัสดีแทน

การบูชาพระสุรัสวดีนั้น ในอินเดียจะนับถือท่านเป็นครูของศิลปะความรู้ทุกแขนง แม้แต่การไหว้ครูในอินเดียก็จะมีการไหว้พระสุรัสวดีเป็นวันเฉพาะเรียกว่าอักษรารัมภา เพราะถือว่าท่านเป็นผู้นำความรู้ทั้งปวงมาเผยแพร่ยังโลกมนุษย์ ส่วนในทางเวทก็ต้องนับถือเพราะเชื่อว่าอักษรเทวนาครีนั้นเป็นอักษรที่พระองค์ประทานสู่โลกมนุษย์เป็นครั้งแรก เรื่องการรำนั้นที่อินเดียจะฟ้อนรำพระสุรัสวดีก่อนเป็นอันดับแรก ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีการฟ้อนรำพระสุรัสวดีแต่มาหายไปเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันการบูชาท่านได้แปรเปลี่ยนไป ที่ยังคงเข้มข้นอยู่ถึงปัจจุบันคือภาคใต้ที่มีการกล่าวบูชาไหว้บทสัสดีเป็นหลักและรับรู้กันได้ทั่วภาคใต้ ส่วนในประเทศไทยจะไม่ค่อยมีบทบาทชัดเจน เท่าที่เห็นก็ปรากฏในรูปของรางวัลตุ๊กตาทอง เพราะนาฏศิลป์สากลของไทยกลับถือพระคเณศเป็นครูแห่งศิลปะเฉยเลย ทั้งๆที่ท่านเป็นมหาเทพแห่งความสำเร็จผู้ขจัดอุปสรรคทุกประการไม่ได้เกี่ยวอะไรมากกับเรื่องศิลปะ
เหตุที่นาฏศิลป์ปัจจุบันนับถือพระคเณศเป็นหลักนั้น คงเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จมงกุฏเกล้าฯ(ในหลวงร.๖)ทรงนับถือพระคเณศมาก ซึ่งพระองค์ก็เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อนาฏศิลปจวบจนถึงปัจจุบัน ก็เลยกระทบกันมา เพลงหลายเพลงนั้นมีมาแต่อดีตก็จริง แต่ท่ารำต่างๆหลายท่าก็เพิ่งจะมาถูกประดิษฐ์ขึ้นในยุคร.๖-๗ครับ เหมือนตระนาฏราช พ่อครูอาคมเป็นผู้ประดิษฐ์ ท่ารำองค์พระ พระยานัฏกานุรักษ์เป็นผู้ประดิษฐ์ และเมื่อไม่นานนี้ตระพระสุรัสวดีก็ได้มีการประดิษฐ์ขึ้นโดยอ.เดชน์ คงอิ่ม และหัวโขนพระสุรัสวดีที่อยู่ในงานนั้นก็เป็นผลงานของพ่อครูของเราครับ ท่านทำไว้ครบถ้วนเลย

เรื่องข้อมูลต่างๆนั้นผมเก็บไว้มากเนื่องจากพ่อครูท่านได้รวบรวมไว้เยอะครับ เดี๋ยวต้องไปรื้อค้นหาดู เหมือนเรื่องการบูชาเทพแขนงต่างๆคือมีครบถ้วนสมบูรณ์เลยโดยเฉพาะพระคเณศ ด้วยเหตุที่ท่านนับถือมาก การสร้างวัตถุรูปเคารพฯครั้งแรกของพ่อครูก็คือพระคเณศครับ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ กว่าๆ ซึ่งท่านยังอายุเพียงสิบกว่าขวบเท่านั้นเอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้